ความเป็นมาของโครงการ

กรมทางหลวงได้จัดทำแผนพัฒนาทางหลวง โดยกำหนดตามทิศทางของการพัฒนาระบบคมนาคม และขนส่ง อาทิ งานก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง งานก่อสร้างเพิ่มมาตรฐานทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า งานบูรณะและปรับปรุงทางลาดยางเดิม งานก่อสร้างเป็นทางลาดยาง มาตรฐานงานก่อสร้างทางแนวใหม่ งานก่อสร้างทางแยกต่างระดับและสะพานลอย ตลอดจนงานอำนวยความปลอดภัย เป็นภารกิจหลักที่กรมทางหลวงมุ่งที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์

ปัจจุบัน ทางหลวงหมายเลข 4156 เป็นทางหลวงในจังหวัดกระบี่ เชื่อมต่อระหว่าง อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ และอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันแนวเส้นทางมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ดังนั้น กรมทางหลวง จึงมีแผนพัฒนาขยายทางหลวงสายดังกล่าว จากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร จะช่วยให้การเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า มีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่โครงการเบื้องต้นพบว่า แนวเส้นทางของโครงการตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ในระยะ 500 เมตรจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ดังนั้น จึงเข้าข่ายโครงการประเภททางหลวงหรือถนน ซึ่งต้องศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ (คชก.) พิจารณาเห็นชอบในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ เพื่อให้สอดคล้องตามราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 3 ง ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562

กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้าง บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอสทูอาร์ คอนซัลติ้ง จำกัดบริษัท ดีไว พลัส จำกัด และบริษัท กรีน พลาเน็ท คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 4156 สาย อ.เขาพนม – อ.ทุ่งใหญ่ ระยะทางประมาณ 40.475 กิโลเมตร มีระยะเวลาดำเนินการรวม 450 วัน

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4156 สาย อ.เขาพนม – อ.ทุ่งใหญ่
  2. เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการพัฒนาโครงการ
  3. เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ทางด้านวิศวกรรมสอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
  4. เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม และเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  5. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ

ประโยชน์ของโครงการ

  1. จะช่วยรองรับปริมาณจราจรที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทั้งในปีปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้การเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า มีความสะดวกและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  2. ช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ของกรมทางหลวงในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับ ความปลอดภัยในการสัญจร และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบกรมทางหลวง พัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งให้สมบูรณ์ ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แนวเส้นทางโครงการ

โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4156 สาย อ.เขาพนม – อ.ทุ่งใหญ่ โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 4156 ประมาณกม. 0+000 และจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 4156 ประมาณกม. 40+475 มีระยะทางประมาณ 40.475 กิโลเมตร

พื้นที่ศึกษาโครงการ

พื้นที่ศึกษาของโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4156 สาย อ.เขาพนม – อ.ทุ่งใหญ่ ดำเนินการศึกษาครอบคลุมในระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ และระยะ 1 กิโลเมตร จากแนวเส้นทางโครงการ (กรณีโบราณสถานฯ) โดยการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนครอบคลุมพื้นที่เขตปกครอง 8 พื้นที่การปกครอง ในเขตพื้นที่ 6 ตำบล 2 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ ตำบลเขาพนม ตำบลพรุเตียว ตำบลสินปุน ตำบลโคกหาร อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ตำบลกุแหระ ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขอบเขตการศึกษา

เป็นการทบทวนรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง หรือที่มีผลกระทบกับโครงการนี้ ทั้งที่เป็นโครงการของ กรมทางหลวง หรือโครงการของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาและรวบรวมข้อมูลแผนพัฒนา แผนงานโครงการก่อสร้าง และนโยบาย รวมถึงประกาศ พระราชบัญญัติ กฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาบริเวณพื้นที่โครงการทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงนโยบายและแผนอนุรักษ์ต่างๆ ในพื้นที่บริเวณโครงการทั้งหมด ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่โครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการวิเคราะห์ออกแบบโครงการให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบที่กรมทางหลวงกำหนด